แม้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประเมินสถานการณ์ในเชิงบวกว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ผลพยากรณ์ของหลายสำนักส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้ทั้งปีจะหดตัวลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเติบโต GDP จากเดิมที่เคยประเมินช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่ -4.9 ถึง -3.4% เป็น -9.4% ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลด GDP ปี 2563 จากเดิม -8 ถึง -5% เป็น -9 ถึง -7% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และความกังวลว่าโควิดจะกลับมาระบาดรอบ 2
ตอกย้ำให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่ว่า แม้การแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศจะคลี่คลาย การปลดล็อกดาวน์ช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่รายได้ของคนในระดับกลาง และล่างยังไม่พอจับจ่าย สวนทางกับภาระหนี้สินที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้หลากหลายมาตรการที่รัฐพยายามกระตุ้นไม่สามารถปลุกกำลังซื้อให้ฟื้น
ที่น่าเป็นห่วงคือหลังมาตรการอัดฉีดเงินทยอยสิ้นสุดลง หากรัฐไม่มีนโยบายแจกจ่ายเงินให้กลุ่มคนที่กำลังเดือดร้อน คนตกงาน ไม่มีรายได้ แถมโครงการภายใต้งบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงเวลาที่เหลือ ก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2564 ล่าช้า ช่วงสุญญากาศหลังมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนสิ้นสุดลง กลุ่มคนที่มีปัญหาจะยิ่งเดือดร้อนหนัก
ส่งผลต่อเนื่องทำให้การจ้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ภาคเกษตร การท่องเที่ยว ฯลฯ ให้เงิน 4 แสนล้านกระจายลงสู่ท้องถิ่น ชุมชนช่วยเศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอีล่าช้าไปด้วย เพราะเน้นคุมเข้มการทุจริตคอร์รัปชั่นจนทำให้การช่วยเหลือเยียวยาขาดความต่อเนื่อง
หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่า หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง และเพิ่มเติมบางตำแหน่ง ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ การบริหารงานแผ่นดินจะเดินหน้าได้เต็มที่ รัฐบาลจะเร่งสปีดแก้วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทุกมาตรการ โครงการจะถูกแปรไปสู่การปฏิบัติได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายโครงการงบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติน้อยมากทั้งที่จำเป็นเร่งด่วน แม้ถือเป็นเรื่องดีถ้าการใช้จ่ายงบฯเงินกู้เป็นไปอย่างคุ้มค่าไม่รั่วไหล แต่หากล่าช้าเกินไปก็อาจต่อลมหายใจให้รากหญ้า ธุรกิจรายกลาง รายเล็ก
ที่กำลังโคม่าไม่ทันการณ์
"ต่อ" - Google News
August 09, 2020 at 08:13AM
https://ift.tt/3irHE7P
เร่งต่อลมหายใจรากหญ้า-เอสเอ็มอี - ประชาชาติธุรกิจ
"ต่อ" - Google News
https://ift.tt/2TWExL0
No comments:
Post a Comment