- การเมืองเดือน ต.ค. เข้มข้น การเคลื่อนไหวมีพลังขึ้น
- ปูดมีต่อสายตรงผู้มีอำนาจก่อนเลื่อนลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ
- แนะทางออกประเทศ ตั้ง ส.ส.ร. ลดอำนาจ ส.ว.กระแสการเมืองในห้วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น “การแก้รัฐธรรมนูญ” หลังไม่สมหวังดังใจฝ่ายค้านและประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง เมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับก่อนเป็นเวลา 30 วัน แล้วหลังเปิดประชุมรัฐสภาในเดือน พ.ย. 2563 ค่อยมาลงมติกันว่าจะรับหลักการหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้คือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคนให้เหตุผลว่าการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดก่อนไม่มี ส.ว. ร่วมด้วย แล้วจะให้มาโหวตได้อย่างไร
ในวันนั้น มี ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านหลายคนลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วย เพราะขั้นรับหลักการในวาระ 1 นี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน อย่างไรเสียเมื่อรับหลักการไปแล้วก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการอยู่ดี การทำเช่นนี้จึงถูกวิจารณ์กันหนาหูว่าเป็นการยื้อเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญออกไปอีก ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลบางรายก็ลุกขึ้นกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเช่นกันว่าเพิ่งทราบเรื่องไม่ถึง 1 ชั่วโมง ไม่รับรู้มาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ เราจะชวนไปคุยกับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ ที่มักจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจ ว่าการเมืองนับต่อจากนี้ในห้วงเดือน ต.ค. จนถึงเปิดประชุมรัฐสภาจะเป็นแบบไหน ร้อนแรงหรือไม่ และทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร
เสียดายโอกาสคลี่คลายวิกฤติ
จาตุรนต์ บอกกับเราว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐสภาไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการคลี่คลายวิกฤติและหาทางออกให้ประเทศ พร้อมมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ เท่าที่ทราบคือพรรคร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่ประธานรัฐสภาก็ไม่รู้เรื่องนี้ จนกระทั่งเหลือเวลาราว 1-2 ชั่วโมง จึงได้ทราบว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาเป็นเวลา 30 วัน ก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะเรื่องไม่ได้ซับซ้อน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีการพูดกันในสาธารณะล่วงหน้ามาแล้ว พร้อมมองว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเสพติดอำนาจและไม่ยินยอมที่จะลดอำนาจหรือยุติบทบาทของตนเอง ซึ่งอำนาจของ ส.ว. ไม่ได้มีแค่การเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา แต่มีอำนาจในการที่จะสกัดขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะหากพร้อมใจกันไม่แก้ซะอย่าง การแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าแค่พูดกันว่าอยู่เฉยๆ ทุกคนไม่ต้องยกมือมันก็แก้ไม่ได้แล้ว และการดึงเกมยื้อเวลาออกไปก็จะทำให้วิกฤติการเมืองเข้มข้นขึ้น
หลายฝ่ายพุ่งเป้าผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ
แต่ทั้งนี้ ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้หลายๆ ฝ่าย ทั้งนักศึกษา ประชาชน พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และอาจจะมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค หันมาให้ความสนใจกับการแก้รัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น และเป็นจุดร่วมของหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ซึ่งในช่วงหลังมีประเด็นที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าเดิม ทำให้ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญลดน้ำหนักลงไปบ้าง เมื่อรัฐสภาตัดสินใจเช่นนี้ ก็จะทำให้นักศึกษาที่มีประเด็นการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันหันมาร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ และอีกพวกหนึ่งคือที่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องร่วมกันพุ่งเป้าไปที่จุดเดียวกันคือการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ
“วิกฤติการเมืองก็จะเข้มข้นขึ้นไปอีก และไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่จากนี้ไปปัญหาเศรษฐกิจจะหนักขึ้นทุกวัน และคนก็จะเห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อหลายๆ สิ่งมาบรรจบกัน ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะทางออกเดียวของประเทศคือต้องเปลี่ยนรัฐบาลและแก้รัฐธรรมนูญ”
การเมืองเดือน ต.ค. ไม่รุนแรง แต่เข้มข้น
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในเดือน ต.ค. มองว่าน่าจะยังไม่รุนแรง เพราะนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมยืนยันที่จะใช้สันติวิธี แต่แนวโน้มการเมืองจะเข้มข้นขึ้นแน่นอน เพราะหลายๆ ฝ่ายที่อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญก็มีความรู้สึกว่าถูกรัฐบาลหลอก และถูก ส.ว. ใช้อำนาจมาขัดขวางหรือถ่วงเวลา โดยเฉพาะคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งคือปมปัญหาของประเทศ ทำให้เป้ามันแคบลงมา เมื่อทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปที่เดียวกัน การเคลื่อนไหวก็จะยิ่งมีพลังขึ้น
ปูดมีต่อสายตรงผู้มีอำนาจก่อนเลื่อนลงมติ
ถามว่ามีข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ไม่มีข่าว แต่ก็สามารถจับทางได้ว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ โดยมีการต่อสายเพื่อขอการตัดสินใจ จาตุรนต์ บอกเป็นสิ่งที่พวก ส.ส. เขาเล่ากัน โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนเขาก็อยู่ในสภาพช็อกเหมือนกัน เพราะไม่คิดมาก่อน คิดแค่ว่าอย่างน้อยก็ผ่านไปสัก 2 ร่างที่เกี่ยวกับมาตรา 256 เรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่วนอีก 4 ร่างอาจจะตกไป ส่วนหลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ก็อาจจะขึ้นอยู่กับกระแสของนักศึกษา ประชาชน และการตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย หากไม่มีการลงมติรับหลักการจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น วิกฤติจะรุนแรงมากขึ้น เพราะประเทศไม่มีทางออก
ชี้ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้
ทางออกที่ดีที่สุดคือจะต้องหารือกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น และควรยอมแก้บางมาตราที่จะลดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะต้องเผื่อว่าหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นแบบกะทันหัน ก็จะไม่เป็นวิกฤติการเมืองต่อไป การที่จะคาดหวังให้ ส.ว. งดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี มันไม่ช่วยและคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และถึงแม้ ส.ว. งดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้ากติกายังให้เลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส. ก็ต้องลงมติกันด้วยเสียงเกิน 375 เสียง ก็ไม่มีใครจะรวบรวมเสียง ส.ส. ได้มากขนาดนั้น ก็จะเป็นวิกฤติอยู่ดี รวมถึงถ้าจะผ่อนคลายวิกฤติจะต้องยุติการคุกคามขัดขวางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชน ไม่ใช้กฎหมายเกินขอบเขต อีกทั้งมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรจะหันมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักเรียนนักศึกษาด้วยตนเอง โดยให้เสนอได้อย่างเต็มที่ จะเป็นการคุยกันภายในหรือแบบเปิดเผยก็ได้ หรืออาจจะเชิญอาจารย์ นักวิชาการ ที่นักศึกษาเลือกมา พล.อ.ประยุทธ์ เลือกมา ร่วมฟังด้วยในบางครั้งก็ได้
มาถึงจุดนี้แล้ว หลายคนคงจะจับตาว่าหลังเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ จะมีการศึกษาออกมาเป็นอย่างไร จะมีการรับหรือไม่รับในญัตติใดบ้าง รวมถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนจะดำเนินไปอย่างไร เมื่อมีการประกาศว่าในช่วงเดือน ต.ค. นี้ จะมีการลงถนนและจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในเร็ววัน เอาเป็นว่านับจากนี้ไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเดินต่อไปทิศไหนทางใด สายตาประชาชนหลายสิบล้านคนจะคอยมองและติดตามการทำงานของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายแบบไม่กะพริบตาแน่นอน...
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านเพิ่มเติม...
"ต่อ" - Google News
September 30, 2020 at 07:17AM
https://ift.tt/2G9qCO4
อ่านเกมจากนี้ การเมืองเดือนตุลาเข้มข้น แก้รัฐธรรมนูญไปต่อทางไหน ถึงจุดยุบสภาหรือไม่ - ไทยรัฐ
"ต่อ" - Google News
https://ift.tt/2TWExL0
No comments:
Post a Comment